ที่มาของ “โต๊ะจีน” เกิดจากวัฒนธรรมของคนจีนในการกินอาหารร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่ อีกทั้งสังคมจีนยังนิยมคบค้าสมาคม พบปะพูดคุย สานสัมพันธ์กันอย่างเป็นมิตรผ่านมื้ออาหาร ประเทศไทยก็มีการรับเอาวัฒนธรรมโต๊ะจีนมา ทั้งยังได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะเวลาที่มีงานมงคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานมงคลสมรส งานบวช หรืองานรื่นเริง จะต้องมีโต๊ะจีนจัดเลี้ยงเสมอ
มารยาทบนโต๊ะจีน
แม้โต๊ะจีนจะเป็นโต๊ะกลมๆ ไม่มีลำดับหัวท้าย ทำให้ดูเสมอภาคและมีความกลมเกลียว แต่ก็มีการกำหนดตำแหน่งเอาไว้ด้วย โดยเจ้าภาพจะนั่งอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับประตู เพื่อให้สะดวกในการต้อนรับแขกได้อย่างทั่วถึง ส่วนเก้าอี้ที่อยู่ตรงข้ามกับเจ้าภาพเป็นตำแหน่งของเจ้าภาพรอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมในโต๊ะสามารถสนทนากันได้อย่างสะดวก
ปรกติจำนวนคนที่นั่งในแต่ละโต๊ะจะเป็นเลขคู่ เช่น 6 8 10 12 คน เพราะเชื่อว่าจำนวนคู่นั้นเป็นเลขมงคล
อาหารที่เสิร์ฟจะมีความหมายดีๆ แฝงอยู่เพื่อความเป็นสิริมงคล และใช้แทนคำอวยพรให้แก่กันและกัน เช่น ปลา สื่อความหมายว่าให้มีเหลือกินเหลือใช้ เป็ด ไก่ อวยพรชีวิตมีแต่ความสงบร่มเย็น บะหมี่ สื่อถึงการมีชีวิตที่ยืนยาว
หากเจ้าภาพหรือแขกผู้ใหญ่ในโต๊ะยังไม่ลงมือรับประทานอาหาร คนอื่นๆ ต้องรอก่อน การรินสุราก็เช่นกัน ต้องรินจากหัวโต๊ะก่อนไล่เรียงลำดับจนครบแล้วยกแก้วดื่มพร้อมกัน
ลำดับการเสิร์ฟ
กลุ่มที่ 1 อาหารเรียกน้ำย่อย เป็นการกระตุ้นให้กระเพาะเริ่มทำงาน และรับรู้ว่ากำลังจะมีอาหารตามมา
กลุ่มที่ 2 อาหารหลักประเภทเนื้อสัตว์ และอาหารจำพวกต้มหรือซุป
กลุ่มที่ 3 อาหารหลักประเภทแป้ง เพราะทำให้อิ่มท้อง โดยจะจัดประเภทเส้นขึ้นโต๊ะก่อน แล้วตามด้วยข้าวเป็นอย่างสุดท้ายของมื้อหลัก
กลุ่มที่ 4 ขนมหวานหรือผลไม้ เป็นการตบท้ายมื้ออาหาร
แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่ความนิยมในจัดเลี้ยงโต๊ะจีนยังคงพบเห็นได้ในทุกงานสำคัญ หากใครที่มีโอกาสเชิญไปร่วมโต๊ะจีน นอกจากจะได้เพลิดเพลินไปกับอาหารแล้ว ยังสังเกตเห็นวัฒนธรรมอันอบอุ่นที่แฝงอยู่ในโต๊ะจีนได้อีกด้วย
ขอบคุณที่มาจาก
กินข้าวกับอาม่า วัฒนธรรมอาหารการกินของลูกจีนในเมืองไทย เขียนโดย อดุลย์ รัตนมั่นเกษม
https://www.thaipbs.or.th/program/JakRakSuRao/episodes/91019
http://www.wichaifood.com/article8/