หากใครได้เปิดปฏิทินน่ำเอี๊ยงปีนี้คงมีเอะใจกันบ้างเมื่อเห็นว่ามีเดือน 6 จีนถึง 2 ครั้ง ปฏิทินพิมพ์ผิดหรือเปล่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น....
มาทำความรู้จักปฏิทินทั้ง 2 ระบบกันก่อน
🌙ปฏิทินจันทรคติ คือ การนับช่วงเวลาโดยยึดจากการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก มักใช้ในการกำหนดวันพระไทยพระจีน หรือวันสำคัญต่างๆ เช่นวันเกิดเทพเจ้า
🌞ปฏิทินสุริยคติ คือ การนับช่วงเวลาโดยยึดการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เป็นระบบปฏิทินสากลที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน โดยแบบปฏิทินจีนแบ่งออกเป็น 24 สารทเพื่อใช้ในการทำการเกษตร เช่น สารทลิบชุง 立春 ตรุษจีน สารทเช็งเม้ง 清明 เป็นต้น
🔖เนื่องจากปฏิทินจันทรคติใช้พระจันทร์ในการแบ่งเดือน เริ่มต้นเดือนเมื่อพระจันทร์เสี้ยวปรากฏบนท้องฟ้า และคืนก่อนวันที่พระจันทร์เสี้ยวจะปรากฏใหม่อีกครั้งก็คือวันสุดท้ายของเดือน ดังนั้นหนึ่งเดือนในระบบจันทรคติจึงมีเพียง 29 วัน (小月 เดือนเล็ก) และ 30 วัน (大月 เดือนใหญ่) ทำให้หนึ่งปีจะมี 354-355 วัน ในขณะที่ระบบสุริยคติ หนึ่งเดือนจะมี 30 วัน และ 31 วัน (มีหนึ่งเดือนที่จะมี 28 หรือ 29 วัน) ทำให้หนึ่งปีมี 365-366 วัน จะเห็นได้ว่าทั้งสองระบบนี้แตกต่างกัน 10-11 วัน
ทว่าการนับแบบจันทรคติกลับเกิดปัญหา เพราะในอดีตผู้คนส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงต้องอาศัยช่วงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศซึ่งขึ้นอยู่กับการโคจรของดวงอาทิตย์ในการวางแผนเพาะปลูก ในขณะที่ชาวประมงจะใช้การสังเกตพระจันทร์คำนวณน้ำขึ้นน้ำลง เมื่อนับตามระบบจันทรคติอย่างเดียวนานปีเข้าก็เกิดความคลาดเคลื่อน เช่น ควรจะเป็นฤดูฝนแท้ๆ แต่ทำไมฝนยังไม่ตกสักที นั่นเป็นเพราะปฏิทินจันทรคติไม่สามารถใช้อ้างอิงกับฤดูกาลได้ จึงต้องแก้ปัญหาโดยการ....เพิ่มเดือนเข้าไปเพื่อทดจำนวนวันที่หายไป
สำหรับเดือนที่เพิ่มเข้ามานี้ ปฏิทินจันทรคติจีนเรียกว่า “หยุ่งเหว่ย (閏月)” มีโอกาสซ้ำได้ทุกเดือนโดยไม่ได้เรียงลำดับว่ารอบปีนี้จะซ้ำเดือนไหน ตัวอย่างของปีที่มีเดือนซ้ำตามปฏิทินจันทรคติจีน เช่น ปี 2563 ซ้ำเดือน 4 (四閏月) ปี 2566 ซ้ำเดือน 2 (二閏月) และปี 2568 ซ้ำเดือน 6 (六閏月)
สำหรับคนที่เกิดในเดือนซ้ำก็ไม่ต้องตกใจไป ให้ท่านยึดจากเดือนแรก เช่น เกิดเดือน 2 ซ้ำ ก็ให้นับว่าท่านเกิดเดือน 2 ตามปกติ หากปีไหนซ้ำเดือน 9 (ช่วงกินเจ) ก็ให้กินเจรอบเดียวก็พอ
หากปีใดมีเดือนซ้ำ การทำพิธีปัดแก้ชงต้องทำการปัดตัว 13 ครั้ง เพื่อให้เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย (เทพผู้คุ้มครองดวงชะตา) ปกป้องคุ้มครองผู้ที่เกิดปีชงตลอดทั้งปีที่มี 13 เดือนนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
เพจ Ong China
ตำราน่ำเอี๊ยง
ปฏิทินร้อยปีเทียบ 3 ภาษา โดยนายหว่า แซ่อึ้ง และนายเลี๊ยกไฮ้ แซ่โอ้ว