🌕พาขึ้นสถานีดวงจันทร์ พร้อมส่องที่มาของชื่อต่าง ๆ ในยานอวกาศจีน🚀

เนื่องในวันที่ 17 กันยายน 2567 ตรงกับวันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน คือวันไหว้พระจันทร์ (中秋節) ผู้คนนิยมออกมาไหว้ขอพรกับพระจันทร์โดยเฉพาะเรื่องความรัก อันมีที่มาจากตำนานรักของเทพธิดาฉางเอ๋อและนักแม่นธนูโฮ่วอี้ ที่โด่งดังมากถึงขนาดสถานีอวกาศประจำประเทศจีนนำไปตั้งเป็นชื่อยานฉางเอ๋อเพื่อรำลึกถึงตำนานรักอันยิ่งใหญ่นี้ น่ำเอี๊ยงขอถือโอกาสพาทุกท่านขึ้นสถานีดวงจันทร์ พร้อมส่องความลับที่มาของชื่อสิ่งประดิษฐ์เพื่อสำรวจสิ่งต่าง ๆ ในอวกาศของจีนไปด้วยกัน

🌕ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ (嫦娥)🌕

ฉางเอ๋อ (嫦娥) มาจากชื่อของเทพธิดาบนดวงจันทร์ตามตำนานของจีน ในอดีตฉางเอ๋อเป็นคนรักของโฮ่วอี้ นักแม่นธนูของสวรรค์ โฮวอี้ได้รับภารกิจให้ไปกำราบพระอาทิตย์ซึ่งมีหมด 10 ดวงและพากันคึกคะนองส่องแสงเล่นจนทำให้เกิดความเดือนร้อน โฮวอี้ได้ยิงธนูดับดวงอาทิตย์ไปทั้ง 9 ดวง จนทำให้โลกเหลือพระอาทิตย์เพียงดวงเดียวทำให้จักรพรรดิสวรรค์ไม่พอใจ จึงได้เนรเทศโฮวอี้พร้อมกับฉางเอ๋อให้ลงไปอาศัยอยู่ยังโลกมนุษย์ 

ต่อมาทั้งสองทำความดี จึงได้รับพระราชทานยาอายุวัฒนะที่จะทำให้มีอายุยืนยาวมาเป็นรางวัล แต่กลับถูกอสูรที่มีฤทธิ์คิดจะชิงเอาไป ซึ่งหากได้ดื่มยาอายุวัฒนะนั้นจะทำให้อสูรร้ายมีพลังมากกว่าเดิม ฉางเอ๋อจึงได้ตัดสินใจดื่มยานั้นเสียเองจนหมดขวด ทำให้นางล่องลอยขึ้นไปบนฟากฟ้าและกลายเป็นเทพธิดา แต่ด้วยความที่ฉางเอ๋ออาลัยอาวรณ์คนรัก จึงเลือกที่จะเป็นเทพธิดาคอยดูแลดวงจันทร์ เพราะว่าดวงจันทร์อยู่ใกล้กับโลกมากที่สุด ทำให้นางรู้สึกเหมือนได้อยู่ใกล้กับโฮวอี้ซึ่งเป็นคนรักของนาง ชาวบ้านรู้สึกประทับใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงนำขนมมาเซ่นไหว้ขอพรให้ฉางเอ๋อช่วยคุ้มครองให้ชีวิตมีความสุข หญิงสาวต่างก็นิยมขอพรให้มีเสน่ห์และมีรูปโฉมงดงามเช่นเดียวกับนาง จึงเป็นที่มาของประเพณีไหว้พระจันทร์ที่มีมาจนถึงปัจจุบัน 

การที่จีนตั้งชื่อยานสำรวจดวงจันทร์ตามเทพธิดาฉางเอ๋อ ก็เปรียบเสมือนเป็นการพานางกลับคืนสู่ถิ่นที่คุ้นเคยและทำหน้าที่ดูแลดวงจันทร์นั่นเอง

🌃ยานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น (天问)🌃

โดยคำว่าเทียน (天) แปลว่า สวรรค์ ส่วนคำว่าเวิ่น (问) นั้นหมายถึงถามหรือสอบถาม พอรวมกันแล้วจะแปลว่า “คำถามต่อสรวงสวรรค์” นำมาจากชื่อบทกวีที่ประพันธ์โดย “ชีว์หยวน” (屈原) กวีเอกและขุนนางผู้รักชาติที่เป็นต้นกำเนิดเทศกาลบ๊ะจ่าง เนื่องจากชวีหยวนนั้นรักบ้านเมืองจึงโดนขุนนางอื่นกลั่นแกล้งจนต้องออกจากงานราชกาล ภายหลังเมื่อทราบว่าแคว้นของตนโดนตีแตก ทำให้เขาเสียใจจนกระโดดน้ำเสียชีวิต ชาวบ้านจึงนำก้อนข้าวไปโยนลงแม่น้ำเพื่อป้องกันศพของชวีหยวนไม่ให้โดนปลากัดกินจนกลายเป็นเทศกาลบ๊ะจ่างอย่างทุกวันนี้

 โดยเนื้อหาในบทกวีนั้นเต็มไปด้วยคำถามที่มีต่อดวงดาว ท้องฟ้า ปรากฎการณ์และตำนานต่างๆ ตลอดจนข้อสงสัยเกี่ยวกับค่านิยมดั้งเดิมของจีน รวมถึงถ่ายทอดการแสวงหาความรู้ต่างๆ จึงเป็นสาเหตุที่บทกวีนี้ถูกนำมาตั้งชื่อยานสำรวจดาวอังคาร เพื่อสื่อถึงความสนใจใคร่รู้และการชอบพัฒนาตนเองอย่างไม่มีสิ้นสุดของชาวจีน แม้ต้องพุ่งทะยานไปไขข้อสงสัยถึงความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นก็ตาม 

🔥หุ่นยนต์ตระเวนสำรวจดาวอังคารจู้หรง (祝融)🔥

ชื่อหุ่นยนต์จู้หรงนั้นมาจากชื่อเทพเจ้าแห่งไฟ "จู้หรง" (祝融) เทพเจ้าผู้ให้กำเนิดเทศกาลโคมไฟหยวนเซียว (元宵節) โดยเริ่มแรกนั้นเทพเจ้าจู้หรงได้ลงจากสวรรค์มาสอนมนุษย์ให้รู้จักใช้ไฟและแสงสว่างเป็นครั้งแรก เนื่องจากท่านรู้สึกผิดที่สร้างความเสียหายให้โลก จากการทะเลาะกับคู่อริอย่างเทพแห่งน้ำ "ก้งกง" (共工) 

ต่อมาเมื่อโลกเข้าสู่ยุคราชวงศ์จีนผู้คนก็เริ่มหันมาบูชาเทพเจ้าแห่งน้ำเพื่อขอให้ช่วยเหลือด้านการเกษตร ทำนาทำไร่ จนลืมให้ความสำคัญเทพเจ้าแห่งไฟจู้หรง (祝 融) ที่มอบแสงสว่างให้มนุษย์มาช้านาน ทำให้ท่านโกรธและต้องการลงโทษมนุษย์เพราะถือว่าไม่รู้บุญคุณ นางหยวนเซียว  (元宵) บ่าวรับใช้ของเทพเจ้าแห่งไฟจึงมาเข้าฝันเพื่อเตือนฮ่องเต้ เมื่อฮ่องเต้ตื่นขึ้นจึงมีรับสั่งให้ข้าราชบริพารและประชาชนทุกคนทำขนม "ทังหยวน" (湯圓)  เพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งไฟจู้หรง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 รวมถึงให้ทุกบ้านจุดโคมแดงหงเติงหลง (红灯龙) ไว้หน้าบ้าน และจุดประทัดทั่วเมืองในคืนนี้ เสมือนว่าพระราชวังและบ้านเมืองกำลังถูกเผาผลาญระเบิดไปทั่วทุกแห่ง อันเป็นเรื่องเล่าที่มาของเทศกาลโคมไฟหยวนเซียว 

เหตุที่ทางการจีนตั้งชื่อหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจว่า “จู้หรง” เป็นเพราะหุ่นยนต์เหล่านี้มีภารกิจในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนดาวอังคาร เป็นการแสวงหาแหล่งผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ส่องสว่างดุจเทพเจ้าแห่งไฟจู้หรงนั่นเอง 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าการตั้งแต่ละชื่อของจีนนั้นมีความเกี่ยวโยงกับตำนานเทพเจ้าและสรวงสรรค์ทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่าแม้ประเทศจีนจะมุ่งพัฒนาด้านเทคโนโลยี แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมความเชื่อที่ล้วนหล่อหลอมมาเป็นอารยธรรมจีนอันเป็นเอกลักษณ์และโด่งดังไปทั่วโลก

อ้างอิง :

https://blog.numeiang.com/4dm08TT

https://thai.cri.cn/2022/06/13/ARTIsLLhGpO20l4XaNbGHWUA220613.shtml   

https://thai.cri.cn/381/2010/11/29/233s182150.htm 

สามารถอ่านเกร็ดความรู้จีนอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ https://bit.ly/NumEiang

LINE ID: @numeiang(มี@)

#ปฏิทินจีนน่ำเอี๊ยง #ปฏิทินจีน #โหราศาสตร์ #น่ำเอี๊ยง #numeiang #วันไหว้พระจันทร์