วันชิวฉิก (初七) หรือวันที่ 7 หลังวันตรุษจีน ชาวแต้จิ๋วนิยมทานอาหารพิเศษที่เรียกว่า “ชิกเอี่ยแก” (七样羹) เป็นการนำผักเจ็ดชนิดมาต้มรวมกันแบบจับฉ่ายนั่นเอง
ผักมงคล7 อย่างได้แก่
ต้นขึ้นฉ่าย (芹菜) คำว่า.“芹”(ฉิน)มีเสียงคล้องจององกับคำว่า“勤”(ฉิน) แปลว่า มีความเพียร อุสาหะวิริยะ และขยันขันแข็ง
ผักขมจีนหรือชุนไฉ่ (春菜) คำว่า “春” (ชุน) คือ ความสดชื่น มีชีวิตชีวา วันเริ่มต้นชีวิตที่แสนสดชื่น และมีเสียงคล้องจองพ้องกับคำว่า “伸” (เซิน)แปลว่า ยืดหรือยื่น จึงมีความหมายว่า มีโอกาสได้เชิดหน้าชูตา
เก่าฮะ (厚合) คำว่า“厚” (เก๋า) มีความหมายว่า หนา มากมาย หรือยิ่งใหญ่ ส่วนคำว่า “合” (เหอ) หมายความว่า รวมกัน ทั้งยังพ้องเสียงกับคำว่า.“和” (เหอ) ที่แปลว่า สมานฉันท์ อีกด้วย
ต้นกระเทียม (蒜) คำว่า “蒜” (ซ่วน) มีเสียงคล้องจองพ้องกับคำว่า.“算” แปลว่า “นับ” คนจีนถือว่าคนที่นับเลขเป็น คิดคำนวณได้คือคนที่ทำธุรกิจค้าขาย มีเงินทองให้นับมากมาย และเป็นคนร่ำรวย
ผักกาดเขียว (大菜) คำว่า “大” (ต้า) มีความหมายว่า ใหญ่โต ยิ่งใหญ่ สื่อความหมายว่า จะได้มีตำแหน่งใหญ่โตในหน้าที่การงาน หากทำการค้า กิจการก็จะรุ่งเรืองใหญ่โต
หัวผักกาด หรือ ไฉ่เท้า (萝卜头) ในภาษาพูดแต้จิ๋วจะใช้ว่า “菜头” (หัวไชเท้า) คำว่า “菜” (ไฉ่) พ้องเสียงกับคำว่า “财” (ไฉ) ที่แปลว่า โชคลาภ ส่วนคำว่า “头” (โถว) มีความหมายว่า หัวหน้าหรือเจ้าคน สื่อถึงการได้เป็นผู้นำคนหมู่มาก
คะน้า(甲蓝) คำว่า “甲” (เจี่ย) มีความหมายว่า อันดับหนึ่ง ส่วนคำว่า “蓝” (หลาน) ออกเสียงเดียวกันกับคำว่า “篮”(หลาน) แปลว่า ตะกร้าหรือกระเช้า เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า เป็นที่หนึ่งในตะกร้าหรือกระเช้า นั่นก็คือเป็นที่หนึ่งในกลุ่มคนหมู่มาก หรือเป็นหนึ่งในใต้หล้านั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.hculi.hcu.ac.th/