ประวัติเทศกาลตรุษจีน / https://www.thairath.co.th/content/preview/2024639?key=eyJ0cyI6MTYxMjg1NzkzMSwic2VjcmV0IjoiZF5jb2RlbDtwIn0%3D&fbclid=IwAR3b6jr-XJvwjqyGiuFefe77FASvwcEnq_BRWQ63q9PLTukY0tEaiiGJtIc

วันที่ 1 เดือน 1 ถือเป็นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติจีน ซึ่งปีนี้เป็นปีกระต่ายทอง ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 ช่วงก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน ทุกครอบครัวต่างพากันทำความสะอาดบ้าน จับจ่ายซื้อของสำหรับวันปีใหม่ ตกแต่งบ้านด้วยกระดาษมงคลและกลอนคู่ เตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ในวันส่งท้ายปีเก่านี้ทุกคนในบ้านจะอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ว่าลูกหลานจะแต่งงานออกเรือน หรืออยู่ต่างถิ่นจะพยายามกลับบ้านมารับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว นี่จึงถือเป็นมื้ออาหารที่สำคัญที่สุดปัจจุบันประเพณีนิยมมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทว่าในหัวใจของชาวจีนและญาติพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนทุก ๆ คนบนโลกใบนี้ยังคงถือเทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลแห่งความสุขที่สำคัญที่สุด

“เทศกาลตรุษจีน” หรือ “วันตรุษจีน” ไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่ จากการค้นคว้าของ กิตติธัช นําพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่นที่ 3 เจ้าของกิจการปฏิทินน่ำเอี้ยง ซึ่งเป็นปฏิทินจีนฉบับภาษาไทยที่ได้รับความนิยมมากในไทย ได้พบข้อมูลว่าเทศกาลตรุษจีนอาจเริ่มต้นในราชวงศ์โจว 周朝 (1046-256 ปีก่อนคริสตศักราช) เริ่มใช้คำว่า “Nián (年)” ซึ่งมีความหมายว่า “ปี” ในวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ตรงกับปฏิทินตามจันทรคติจีน ในวันที่ 1 เดือน 1 และชาวจีนเริ่มนิยมสักการะเทพเจ้า และบรรพบุรุษ เพื่อขอพรจากฟ้าดิน ให้พืชผลทางการเกษตรงอกงาม มีกิน มีใช้ ตลอดทั้งปี

ดังนั้น เทศกาลปีใหม่จีนจึงไม่ตรงกันในแต่ละปี และไม่ตรงกับปฏิทินสากล โดย “วันตรุษจีน” จะอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดของฤดูหนาว (大寒 ) และเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ (立春) ที่แสงอาทิตย์มีอิทธิพลสร้างความอบอุ่น บรรเทาความหนาวจนสิ้นสุดลง และดอกไม้ต่างๆ เริ่มผลิบาน จึงตั้งเป็นวันแรกของฤดูทั้ง 24 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน

สมัยนั้นชาวจีนให้ความสำคัญกับการเพาะปลูก จึงให้ความสำคัญกับปฏิทินจันทรคติด้วย เพื่อเตรียมเพาะปลูก เก็บเกี่ยว รวมถึงเตรียมไหว้เทพเจ้าในวันสำคัญตามความเชื่อทางศาสนา

ของไหว้ตรุษจีน มีอะไรบ้าง และมีความหมายอย่างไร
ของไหว้ตรุษจีน จะประกอบด้วยเนื้อสัตว์ 3 หรือ 5 อย่าง รวมถึงอาหารแห้ง, อาหารเจ, ผลไม้, ขนมมงคล และกระดาษเงินกระดาษทองเพื่อจำลองสิ่งมีค่ามอบให้กับบรรพบุรุษ ไม่นิยมใช้ของไหว้ที่มีสีดำ หรือสีขาว เพราะเป็นสีที่แสดงถึงความโศกเศร้า ส่วนของไหว้ที่นิยมต่างๆ พร้อมความหมาย มีดังนี้

เนื้อสัตว์ 5 อย่าง ที่นำมาไหว้ในเทศกาลตรุษจีน

  • ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ความก้าวหน้า และเกียรติยศ จึงต้องใช้ไก่ทั้งตัว ที่สมบูรณ์
  • เป็ด หมายถึง ความสามารถที่หลากหลาย
  • ปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
  • หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
  • หมึก หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เหลือกิน เหลือใช้

ขนมมงคล สำหรับไว้ในเทศกาลตรุษจีน

  • ถั่วตัด หมายถึง เงิน
  • ขนมเข่ง ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
  • ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญ
  • ขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่ หมายถึง ความรุ่งเรือง เฟื่องฟู
  • ซาลาเปา หมั่นโถว หมายถึง การห่อโชค
  • ขนมจันอับ หมายถึง ความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป

อาหารแห้ง และอื่นๆ

  • บะหมี่เส้นยาวๆ หมายถึง อายุยืนยาว
  • เม็ดบัว หมายถึง การมีลูกชายจำนวนมาก
  • สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
  • หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ผาสุก

ที่มา:

-ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเทศจีน โดย Higher Education Press

-https://www.thairath.co.th/content/preview/2024639?key=eyJ0cyI6MTYxMjg1NzkzMSwic2VjcmV0IjoiZF5jb2RlbDtwIn0%3D&fbclid=IwAR3b6jr-XJvwjqyGiuFefe77FASvwcEnq_BRWQ63q9PLTukY0tEaiiGJtIc



Thuwanan

Thuwanan