ไขข้อสงสัย พระอ้วนในวัดคือใคร?

ทุกคนเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าพระอ้วนที่อยู่ในวัดนั้นคือใคร?

ปู้กุ้ยฮุก (富贵佛) หรือ หมี่เล่อฝอ (弥勒佛) คือพระศรีอริยเมตไตรย พระที่ได้รับการศรัทธาจากชาวจีนว่า ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ที่ช่วยมนุษย์ยากไร้ให้มีโชค และเปลี่ยนมนุษย์ผู้ทุกข์โศกให้มีความสุข

ประวัติความเป็นมาของปู้กุ้ยฮุก

กล่าวว่า ในสมัยยุค 5 ราชวงศ์ 10แคว้น (五代十国) ราชวงศ์เหลียงยุคหลัง (后梁) มีพระอริยบุคคลเกิดขึ้นนามว่า พระชี่ฉื่อ (契此) มีรูปร่างอ้วนท้วมพุงโต แต่งกายไม่เรียบร้อย และมักมีเด็กๆคอยติดตามไปบิณฑบาตในเมืองด้วยเสมอ เพราะท่านมีจิตเมตตา ชอบแจกของจากถุงย่ามอยู่เรื่อยๆ

ในหนังสือประวัติศาสตร์พุทธศาสนาชุด《宋高僧传》มีพระจ้านหนิง (赞宁) สมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นผู้รวบรวมไว้ มีทั้งหมด 30 เล่ม โดยเล่มที่ 21 มีบันทึกว่า พระชี่ฉื่อมีความสามารถในการพยากรณ์อากาศและพยากรณ์โชคชะตาได้อย่างถูกต้องแม่นยํา ก่อนที่พระชี่ฉื่อจะมรณภาพ ก็ได้ทิ้งบทกลอนปริศนาธรรมซึ่งมีคําว่า เมตไตรย(弥勒)ในบทนั้นด้วย สื่อความว่า “เมตไตรยจริงแท้พระเมตไตรย แบ่งกายมานับโกฏิแสน แสดงแด่ชนทั่วทุกแดน แต่เหล่าชนกลับไม่เกิดปัญญา(彌勒眞彌勒,化身千百億, 廣度諸衆生,衆生都不識)” ทำให้ผู้คนต่างคิดกันว่าท่านคือพระเมตไตรยที่ลงมาโปรดสัตว์โลก โดยทางอุตรนิกายถือว่าพระเมตไตรยเป็น 1 ใน 8 พระโพธิสัตว์องค์สำคัญ เรียกว่า พระโพธิสัตว์เมตไตรย(弥勒菩萨) ที่จะอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต”

รูปสักการะของปู้กุ้ยฮุกในปัจจุบันจึงมีที่มาในรูปลักษณ์ของพระชี่ฉื่อ รูปลักษณ์ที่เราเห็นกันเป็นพระยิ้มถือถุงย่าม แต่ภายหลังมักมีผู้เข้าใจผิดคิดว่า ท่านคือพระสังกัจจายน์ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า เนื่องจากมีรูปลักษณ์คล้ายกัน

แล้วพระอ้วนทั้งสองรูปแตกต่างกันอย่างไร?

ปู้กุ้ยฮุก เป็นพระฝั่งมหายาน มีใบหน้ายิ้มแย้ม ไม่มีผม ครองจีวรแบบเปิดท้อง มือข้างหนึ่งถือถุงย่าม และมืออีกข้างถือลูกประคำ

ส่วนพระสังกัจจายน์ เป็นพระฝั่งเถรวาท มีใบหน้าสงบเป็นปกติ ผมขมวดเป็นก้นหอย ครองจีวรแบบคลุมท้องและเปิดไหล่ขวา โดยมือทั้งสองข้างอุ้มท้องเอาไว้

ดังนั้นหากได้เข้าไปสักการะหรือทำบุญที่วัดจีนหรือศาลเจ้าจีน จะพบว่ามีรูปเคารพพระอ้วนพุงพลุ้ย ใบหน้ายิ้มแย้มร่างเริง ในมือถือถุงย่ามและลูกประคำที่เห็นกันก็คือปู้กุ้ยฮุกนั่นเอง

ขอบคุณที่มาจาก

https://www.silpa-mag.com/history/article_93484

https://doi.nrct.go.th/ListDoi/Download/573124/fc16b84c55a343244abb4b6cdb6358bd?Resolve_DOI=10.14457/CU.the.2015.556

เพจ หมื่นเทพเทวะ

เพจ วัดป่าธรรมคีรี

NumEiang

NumEiang